โครงการ Common School เป็นพื้นที่เผยแพร่ความรู้แบบก้าวหน้า บทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับโครงการ Common School เสมอไป
ทุกวันนี้เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าระบอบการเมืองการปกครองนั้นสัมพันธ์กับทุกภาคส่วนในสังคมและชีวิตของผู้คน วงการภาพยนตร์ก็เฉกเช่นเดียวกัน เพราะรัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงในการกำหนดนโยบายในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ในขณะเดียวกัน หลายต่อหลายครั้งภาพยนตร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชักจูงความคิดของประชาชนไปในทางที่รัฐต้องการและเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งเนื่องจากสามารถเข้าไปแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนได้ ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ในยุคระบอบเผด็จการ 

เมื่อนึกถึงประเทศที่เคยผ่านการปกครอบระบอบเผด็จการมาก่อน ประเทศสเปนถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผู้คนมักนึกถึง เนื่องจากตกอยู่ภายใต้การปกครองของจอมพลฟรานซิสโก ฟรังโกมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี กล่าวคือตั้งแต่ค.ศ.1939 เมื่อสงครางกลางเมืองสิ้นสุดลงภายหลังการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนานนับ 3 ปี จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน ศ.ศ.1975 วันที่จอมพลฟรังโกเสียชีวิตด้วยวัย 82 ปี วงการภาพยนตร์ของประเทศสเปนในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีพัฒนาการตามความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของระบอบฟรังโกเช่นกัน กล่าวคือ ในช่วงทศวรรษที่ 40 ภาพยนตร์ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายรัฐอย่างเข้มข้น กรมภาพยนตร์ถูกตั้งขึ้นภายใต้หน่วยงานด้านโฆษณาชวนเชื่อ มีหน้าที่ตั้งแต่ควบคุมบท การอนุมัติการถ่ายทำ การเข้าฉาย การเก็บภาษี การเซ็นเซอร์เนื้อหาโดยตรงหรือทางอ้อมด้วยการพากย์เสียงสำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศ

ในยุคนี้มีการผลิตภาพยนตร์ประเภท Cine de Cruzada หรือภาพยนตร์ครูเสดที่เชิดชูคุณค่าหลักของระบอบ พยายามชี้ให้เห็นเหตุผลความสำคัญของการริเริ่มทำสงครามกลางเมืองของกลุ่มจอมพลฟรังโก มีกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ให้ฝ่ายสาธารณรัฐหรือฝ่ายแดง (los rojos) เป็นกลุ่มป่าเถื่อน ทำร้ายและทำลายศาสนาและผู้บริสุทธิ์ เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง Raza (Race) ซึ่งสร้างในปีค.ศ.1942 ผลงานของผู้กำกับ José Luis Sáenz de Heredia (รับชม Raza ได้ในเว็บไซต์ของ Radiotelevisión Española เวอร์ชันไม่มีซับไตเติลภาษาอังกฤษได้ ที่นี่) ประเด็นที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือสร้างขึ้นจาก นวนิยายที่ประพันธ์โดย Jaime de Andrade ซึ่งเป็นนามปากกาของจอมพลฟรังโกนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าตัวผู้นำเผด็จการมีส่วนโดยตรงในการเข้ามาครอบงำความคิดของประชาชนผ่านผลงานด้านบันเทิงเช่นกัน Raza เล่าเรื่องของพี่น้องสี่คน คนนึงหลงผิดไปเข้ากับรัฐบาลสาธารณรัฐ ส่วนสามคนที่เหลือปฏิบัติตนเฉกเช่นพลเมืองสเปนที่ดีมีคุณธรรม นั่นคือ ลูกชายคนนึงอุทิศตนเป็นพระ ลูกชายอีกคนรับราชการทหาร และผู้หญิงแต่งงานกับสามีนายทหาร


โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Raza (1942) กำกับโดย José Luis Sáenz de Heredia

นอกจากนี้ ตั้งแต่ค.ศ.1942 เป็นต้นมา มีการตั้งหน่วยงานรัฐ  NO-DO (Noticiarios y Documentales Cinematográficos) ขึ้นเพื่อผูกขาดการนำเสนอข่าวสารและสารคดี และตั้งแต่ต้นปีค.ศ.1943

รัฐบังคับให้ฉาย NO-DO ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศก่อนการเริ่มฉายภาพยนตร์ ซึ่งนับว่าเป็นการคัดกรองข่าวและข้อมูลที่ประชาชนจะได้รับอย่างเบ็ดเสร็จและใช้พื้นที่ความบันเทิงหลักของประชาชนสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว  

ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 50 ภาพยนตร์ภายในประเทศมีพัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลฟรังโกเช่นกัน กล่าวคือนับแต่ประเทศสเปนได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้นในช่วงสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องแสวงหาพันธมิตรและประเทศสเปนเองก็ตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ของทวีปยุโรป นำไปสู่การเปิดประเทศทั้งในเชิงการค้า การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ย่อมมีพลวัตเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงปี 60 เกิดกระแสภาพยนตร์แนวใหม่ของสเปน (Nuevo Cine Español) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Nouvelle Vague ของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงปลายปี 50 ภาพยนตร์ของกระแสใหม่นี้มุ่งตีแผ่และวิพากษ์ปัญหาสังคมทั้งอย่างตรงไปตรงมาและผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ ประกอบกับมีการออกกฎหมายเซ็นเซอร์ฉบับใหม่ในปีค.ศ.1963 ซึ่งผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 70 ซึ่งเป็นปลายสมัยของรัฐบาลฟรังโกแล้ว การเซ็นเซอร์ยิ่งลดความเข้มข้นไปอีกเนื่องจากต้องการให้นานาชาติเห็นว่าประเทศสเปนเปิดกว้างด้านการแสดงออก

สำหรับภาพยนตร์เด่นในช่วงยุคนี้ไดแก่ Cría Cuervos (Raise Ravens) ของผู้กำกับ Carlos Saura (รับชม Cria Cuervos ได้ใน Amazon Prime ที่นี่) ซึ่งออกฉายในปี 1976 เพียงปีเดียวหลังจากฟรังโกเสียชีวิต ชื่อเรื่องสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เลี้ยงอีกา” เป็นชื่อเรื่องที่หยิบยกมาจากสำนวนสเปน Cría cuervos y te sacarán los ojos (เลี้ยงอีกา อีกาจะจิกตา) ซึ่งตรงกับสำนวนไทย “ชาวนากับงูเห่า”  เนื้อเรื่องดำเนินผ่านมุมมองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาในครอบครัวของบิดาที่เป็นทหาร ส่วนมารดาที่ตนรักและผูกพันมากก็เสียชีวิตลงด้วยความทรมานจากโรคร้าย ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพความเกลียดกลัวที่เด็กผู้หญิงคนนี้รู้สึกต่อบิดาของเธอ เนื่องจากเธอคิดว่าบิดาเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทรมานทั้งปวงของมารดา


Cria Cuervos (1976) กำกับโดย Carlos Saura หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของสเปน

ครอบครัวของเด็กผู้หญิงคนนี้เสมือนภาพจำลองของสังคมของประเทศสเปนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการสู่ประชาธิปไตย บิดาเปรียบเสมือนจอมพลฟรังโกซึ่งสร้างความทุกข์ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะสตรีเพศที่ถูกกดและจำกัดบทบาท ส่วนเด็กๆ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นขบถในตัวและต้องการความเปลี่ยนแปลง

จากที่อธิบายไปข้างต้น เราจะเห็นได้ถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่สอดรับไปกับระบอบการเมืองการปกครองและนโยบายที่เปลี่ยนไปของรัฐ เมื่อสังคมสเปนก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ มีความพยายามของผู้กำกับมากหน้าหลายตาในการนำเสนอและตีแผ่ความทุกข์ทรมานและความสูญเสียจากสงครามกลางเมืองสเปนและชีวิตของผู้คนในช่วงเผด็จการฟรังโก  หนึ่งในภาพยนตร์ร่วมสมัยท่สะท้อนประเด็นดังกล่าวคือ Laberinto del Fauno หรือ Pan’s Labyrinth (รับชมได้ใน Amazon Prime ที่นี่ ) ผลงานปี 2006 ของผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง Guillermo del Toro ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออกสาร์ถึง 6 สาขาและกวาดรางวัลไปได้ 3 สาขาด้วยกัน ภาพยนตร์นำเสนอบริบทของบ้านเมืองสเปนในปีค.ศ.1944 หรือห้าปีภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงแต่การไล่ล่าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามยังดำเนินอย่างต่อเนื่องและรุนแรง


Pan’s Labyrinth (2006) กำกับโดย Guillermo del Toro ผู้กำกับฮอลลีวู้ดชื่อดังชาวสเปน

ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ในบทความเนื่องจากมีการเล่าเรื่องของโลกแฟนตาซีขนานไปกับเรื่องราวอันโหดร้ายในโลกของความเป็นจริง ตัวเอกของเรื่องนี้เป็นเด็กผู้หญิงเช่นเดียวกับเรื่อง Cría Cuervos  ในเรื่องเธอจะต้องผ่านบททดสอบของแพน เทพแห่งท้องทุ่งและผืนป่า เพื่อพิสูจน์ว่าเธอเป็นเจ้าหญิงแห่งโลกใต้ดินและแตกต่างจากมนุษย์ปุถุชนทั่วไป เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ เราอาจอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าโลกแฟนตาซีในเรื่องมีจริงหรือไม่? หรือเป็นเพียงจินตนาการของเด็กผู้หญิงคนนี้เพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายเมื่อต้องใช้ชีวิตร่วมกับพ่อเลี้ยงซึ่งเป็นนายทหารแสนโหดเหี้ยมและมารดาซึ่งกำลังตั้งครรภ์และป่วยหนัก ภาพยนตร์เรื่องนี้เต็มไปด้วยสัญญะในการวิพากษ์ทั้งระบอบการปกครองเผด็จการที่กัดกร่อนทุกภาคส่วนของสังคม มีเฉพาะผู้คนในวงของตนเท่านั้นที่ได้เสวยสุข การกดขี่สตรีเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ รวมถึงวิพากษ์บทบาทของคริสตจักรในการค้ำยันระบอบ Pan’s Labyrinth เคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย และยังคงหาแผ่น DVD ดูได้

ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่อยากแนะนำคือ La trinchera infinita หรือ The Endless Trench  กำกับโดย Jon GarañoAitor Arregi และ Jose Mari Goenaga (สามารถรับชมได้ใน Netflix) ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยสาธารณรัฐ นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นและหมู่บ้านของเขาถูกฝ่ายขวาเข้าควบคุม เขาต้องหนีการตามล่าและหลบซ่อนอยู่ในช่องลับที่มืดทึบและคับแคบภายในบ้านตัวเอง และย้ายไปหลบซ่อนในซอกแคบ  ระหว่างกำแพงในบ้านของบิดา รวมระยะเวลายาวนากว่า 30 ปี


The Endless Trench (2019) ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ยุคฟรังโก

ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้โทนสีมืดตลอดทั้งเรื่องหลายครั้งเราจะเห็นความเป็นไปต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตัวบ้านผ่านช่องแคบ ๆ ตามมุมมองของตัวเอกที่หลบซ่อนอยู่ ทั้งเนื้อหาและภาพทำให้ผู้ชมรับรู้ได้ถึงความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ หวาดกลัว แปลกแยก และเหินห่างจากคนในครอบครัวและโลกภายนอก

ภาพยนตร์จำลองชีวิตจริงของกลุ่มที่เรียกกันว่า ‘los topos’ หรือกลุ่มคนที่หลบซ่อนอยู่ในบ้านของตนเองเป็นเวลายาวนานนับสิบ ๆ ปีในช่วงการปกครองของระบอบฟรังโก

Author

เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแม้จะจบมาด้านการสอนภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศ แต่ก็หลงใหลใคร่รู้เรื่องวัฒนธรรม และยังชื่นชอบการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save